บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า
ปลายแสนกัปแต่ภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระอุบัติขึ้นในโลก มีภิกษุแสนรูปเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวภิกษาในคามนิคมและราชธานี เพื่อสงเคราะห์มหาชน เมื่อเสด็จถึงกรุงหังสวดี มหาราชาผู้เป็นพระพุทธบิดา ทรงทราบข่าวว่าพระศาสดานั้นเสด็จมา จึงได้เสด็จออกไปต้อนรับ พระศาสดาได้ตรัสธรรมกถา แด่พระพุทธบิดา จบเทศนาบางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามี บางพวกเป็นพระอนาคามี บางพวกบรรลุพระอรหัต พระราชาทรงนิมนต์พระทศพล เพื่อเสวยภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ในวันรุ่งขึ้นทรงให้แจ้งเวลาภัตตาหาร ได้ถวายมหาทาน ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีภิกษุแสนรูปเป็นบริวาร พระศาสดาทรงกระทำภัตตานุโมทนาแล้วเสด็จไปพระวิหารตามเดิม โดยทำนองนั้นนั่นแล ได้ถวายทานตลอดกาลยืดยาวนาน คือ วันรุ่งขึ้นชาวเมืองถวาย วันรุ่งขึ้นต่อไปพระราชาถวาย
ครั้งนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะเถระนี้บังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล กรุงหังสวดี
วันหนึ่งในเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เห็นชาวกรุงหังสวดี ต่างถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปยังที่แสดงธรรม จึงได้เดินตามไปพร้อมกับมหาชนนั้น เวลานั้นพระปทุมุตตระพุทธเจ้า ทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้แทงตลอดธรรมก่อนในพระศาสนาของพระองค์ ท่านได้ทราบเหตุนั้นแล้วจึงปรารถนาที่จะได้เป็นอย่างภิกษุนี้ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเช่นนั้นบ้าง
ดังนั้นท่านจึงนิมนต์พระปทุมุตตระพุทธเจ้า พร้อมภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร และทำการถวายมหาทานอยู่ ๗ วัน. แล้วท่านจึงหมอบลงแทบพระบาทของพระศาสดา แสดงความปรารถนาว่า ด้วยผลแห่งการถวายทานสักการะนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่นใด เพียงแต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงได้ตำแหน่งเอตทัคคะนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือน ภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่ง ในวันสุดท้าย ๗ วัน นับแต่วันนี้
พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตกาลด้วยพุทธญาณ ทรงเห็นว่าความปรารถนาของกุลบุตรนี้จักสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่ากุลบุตรผู้เจริญ ในที่สุดแห่งแสนกัปในอนาคต พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฎิ เวลาจบพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ด้วยการแสดงธรรมครั้งแรกของพระโคดมพุทธเจ้านั้นดังนี้
พระศาสดาครั้นทรงพยากรณ์กุลบุตรนั้นดังนี้แล้ว ทรงแสดงธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ชนทั้งหลายได้สร้างเจดีย์ทองคำบรรจุพระสรีระของพระองค์ สูง ๗ โยชน์ เศรษฐีนั้นให้สร้างเครื่องประดับอันมีค่ามากล้อมเจดีย์บรรจุพระสรีระของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.ในวันประดิษฐานพระเจดีย์ ให้สร้างเรือนแก้วภายในเจดีย์ เศรษฐีนั้นกระทำทานเป็นอันมากถึงแสนปี เมื่อสิ้นชีวิตแล้วแล้วบังเกิดในสวรรค์.วัฏฏะแห่งชีวิตวนอยู่ในภูมิเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายนั่นเอง
บุรพกรรมในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า
ล่วงไป ๙๙,๙๐๙ กัป ในท้ายกัปที่ ๙๑ จากภัทรกัปนี้ กุลบุตรนี้บังเกิดในเรือนแห่งคฤหบดี ในรามคามใกล้ประตูกรุงพันธุมดี ได้นามว่า มหากาล ส่วนน้องชายของท่าน นามว่า จุลกาล.
สมัยนั้น พระโพธิสัตว์พระนามว่า วิปัสสี จุติมาบังเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้าพันธุมะ กรุงพันธุมดี ตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรมแก่ ขัณฑะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระองค์ และบุตรปุโรหิต ชื่อ ติสสะ ทั้งสองดำรงอยู่ในพระอรหัตผล พระศาสดาทรงสถาปนาพระขัณฑเถระไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกรูปที่ ๑ ทรงสถาปนาพระติสสะเถระไว้ในตำแหน่งอัครสาวกรูปที่ ๒.
ฝ่ายพระราชา ทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงเสด็จไปสดับพระธรรมเทศนา ดำรงอยู่ในรัตนะ ๓ และทรงปรารถนาจะอุปัฏฐาก พระบรมศาสดา ผู้เป็นพระโอรส พร้อมหมู่พระภิกษุแต่ผู้เดียว ไม่ยอมให้ชนทั้งหลายได้มีโอกาสเช่นนั้นบ้าง จึงให้สร้างรั้วไม้ตะเคียนสองข้าง ตั้งแต่ซุ้มประตูพระวิหารจนถึงทวารพระราชวัง ให้ปิดล้อมด้วยผ้า แล้วนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมหมู่ภิกษุเสด็จไปสู่พระราชมณเฑียร เพื่อกระทำภัตกิจ แล้วเสด็จกลับมายังวิหาร โดยทางเดิม มหาชนอื่น แม้จะดูก็ยังไม่ได้ดู แล้วไฉนจะได้ถวายภักษาหารและการบูชาเล่า.ทรงกระทำเช่นนี้มาตลอด ๗ ปี ๗ เดือน
ชาวพระนครคิดว่าเมื่อพระศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เป็นเวลานานถึงเพียงนี้แล้ว ถึงวันนี้ พวกเราแม้เพียงปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก็ยังไม่ได้เฝ้า จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการที่จะได้ถวายภิกษา หรือกระทำการบูชา หรือฟังธรรมเล่า พระราชาทรงยึดถือว่า พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์เป็นของพระองค์เองผู้เดียว ที่ถูกแล้ว พระศาสดาเมื่อเสด็จอุบัติ ก็อุบัติเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย มิใช่อุบัติเพื่อประโยชน์เฉพาะแก่พระราชาเท่านั้นไม่ เพราะฉะนั้น เราจะกราบทูลพระราชาเพื่อขอโอกาสกระทำบุญแด่พระศาสดาบ้าง ถ้าไม่ให้พวกเราก็จะรบกับพระราชา คิดดังนี้แล้วมหาชนจึงแต่งตัวแทนเข้าไปหาเสนาบดี แจ้งเรื่องนั้นแก่ท่าน เสนาบดีก็รับปากจะเข้าร่วมเป็นฝ่ายมหาชน โดยมีข้อแม้ว่า ต้องให้เสนาบดีมีโอกาสทำบุญกับพระศาสดาเป็นคนแรก ชาวพระนครก็รับคำ
เสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระราชาทรงเห็นว่า ชาวพระนครมีกำลัง ทั้งเสนาบดีก็เป็นฝ่ายของชาวพระนครเหล่านั้นเหมือนกัน จึงตรัสต่อรองว่า ขอเวลาให้ท่านได้ทำบุญกับพระศาสดากับหมู่พระสงฆ์อีก ๗ ปี ๗ เดือน ชาวพระนครไม่รับ พระราชาทรงให้ลดลงอย่างนี้คือ ๖ ปี ๕ ปี ชาวพระนครก็ไม่ยินยอม สุดท้ายจึงขออีก ๗ วัน ชาวพระนครก็ยินยอม
พระราชาทรงนำสิ่งที่เตรียมไว้ถวายพระพุทธองค์และหมู่ภิกษุ สำหรับระยะเวลา ๗ ปี ๗ เดือน มารวมกันเพื่อถวายใน ๗ วันเท่านั้น แล้วพระราชาถวายบังคม กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า บัดนี้ ข้าพระองค์อนุญาตให้ชาวพระนครได้ถวายทานแล้ว ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป โปรดทรงอนุเคราะห์แก่ชาวพระนครเหล่านั้นเถิด
ครั้นในวันต่อมา เสนาบดีได้ถวายมหาทานตามสัญญา ต่อจากนั้น ชาวพระนครก็ได้เวียนกันกระทำสักการะพระพุทธองค์และหมู่พระสาวก เมื่อถึงลำดับของชาวพระนคร ทั่ว ๆ ไป ที่อยู่ใกล้ประตูพระนคร มหากาล จึงกล่าวกับ จุลกาลผู้น้องชายว่า วันพรุ่งนี้ ถึงคราเราได้โอกาสสักการะแด่พระทศพล เราจะทำสักการะ โดยนำข้าวสาลีที่มีอยู่ในนาของเรา ที่กำลังออกรวงอ่อน แล้วนำเอาข้าวอ่อนนั้นเอามาเคี่ยวเป็นน้ำนมจนข้นปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จุลกาลผู้น้องไม่เห็นด้วยเพราะจะเป็นการทำลายข้าวที่กำลังตั้งท้องอยู่ให้เสียหาย
มหากาลจึงให้แบ่งที่นาออกเป็น ๒ ส่วนเท่า ๆ กัน และนำข้าวในส่วนของตนไปทำเป็นภัตตาหารตามที่ตนตั้งใจ แล้วถวายแด่พระบรมศาสดาและเหล่าพระภิกษุทั้งหลาย ในกาลเสร็จภัตกิจ เขาได้ทราบทูลว่า“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานอันเลิศของข้าพระองค์นี้ จงเป็นไปเพื่อความแทงตลอดธรรมอันเลิศก่อนกว่าสาวกทั้งปวง”.พระศาสดาตรัสว่า "จงเป็นอย่างนั้นเถิด" แล้วได้ทรงทำอนุโมทนา
ข้าวในนาส่วนที่ถูกนำมาเป็นภัตตาหารก็กลับมีขึ้นเต็มดังเดิม มหากาลผู้พี่ในเวลาต่อ ๆ มาก็ได้ทำทานเช่นนั้นเป็นระยะ ๆ รวม ๙ ครั้ง ในเวลาข้าวเม่า ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวเม่า ได้ถวายข้าวกล้าอย่างเลิศพร้อมกับชาวบ้าน ในเวลาเกี่ยว ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวเกี่ยว ในเวลาทำเขน็ด ก็ถวายส่วนเลิศในข้าวเขน็ด ในเวลามัดเป็น ฟ่อนเป็นต้น ก็ถวายส่วนเลิศในข้าวฟ่อน ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวในลาน ในเวลานวดก็ถวายส่วนเลิศในข้าวนวด ในเวลาข้าวขึ้นยุ้งก็ถวายส่วนเลิศในข้าวขึ้นยุ้ง ได้ถวายทานตามคราว ๙ ครั้ง สำหรับข้าวกล้าอย่างเดียวเท่านั้น ดังกล่าวมาฉะนี้ ข้าวกล้าแม้นั้นก็คงยังตั้งขึ้นเหลือเฟือ
ท่านกระทำเช่นนั้นตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และตราบเท่าที่พระสงฆ์ยังมีอยู่ ครั้นสิ้นชีพแล้ว ก็บังเกิดในเทวโลก ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและ มนุษย์ เสวยสมบัติตลอด ๙๑ กัป
กำเนิดเป็นโกณฑัญญพราหมณ์ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
ในสมัยของพระสมณโคดมบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านเกิดในเวลาก่อนที่พระบรมศาสดาของเราจะทรงอุบัติขึ้นในโลก ในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในหมู่บ้านพราหมณ์โทณวัตถุ ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ เมื่อเกิดแล้วพวกญาติตั้งชื่อท่านว่า โกณฑัญญมาณพ ครั้นเจริญวัยแล้วก็ได้เรียนไตรเพทจนจบ และรู้ลักษณะมนต์ทั้งหลาย (ตำราทายลักษณะ)
ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระประยูรญาติก็ได้จัดพระราชพิธีเฉลิมพระนาม โดยได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาประกอบพิธี โดยถวายผ้าใหม่ให้ครอง และถวายภัตตาหาร ครั้นเสร็จภัตกิจแล้วจึงได้เลือกพราหมณ์ ๘ คน จากพราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ คนนั้น พราหมณ์ ๘ คนเหล่านี้คือ พราหมณ์ชื่อรามะ ชื่อธชะ ชื่อลักขณะ ชื่อสุชาติมันตี ชื่อโภชะ ชื่อสุยามะ ชื่อโกณฑัญญะ ชื่อสุทัตตะ ซึ่ง่พราหมณ์เหล่านี้ก็เป็นกลุ่มที่ได้ทำนายพระสุบินในวันที่ทรงประสูตินั่นเอง
ครั้นเมื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ ได้ตรวจดูพระสรีระของพระมหาบุรุษแล้ว มีพราหมณ์ ๗ คน (อรรถกถาบางแห่งบอกว่า ๓ คน) ได้ทำนายออกเป็น ๒ แนว ว่า ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าเสด็จออกทรงผนวช จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกส่วนโกณฑัญญมาณพ ซึ่งอายุน้อยที่สุดในหมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ คนนั้นทำนายเป็นทางเดียว (อรรถกถาบางแห่งบอกว่า ๕ คน ทำนายเป็นทางเดียว ซึ่งทั้ง ๕ พราหมณ์นี้ก็คือปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั่นเอง) ว่าพระองค์จะเสด็จออกทรงผนวช แล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน พวกพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อกลับไปสู่เรือนของตัวเองแล้วก็ได้ปรารภกับบุตรทั้งหลายว่า ตัวพ่อนั้นอายุมากแล้ว คงจะไม่ได้อยู่ชมพระบารมีของพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ผู้จะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พวกเจ้าเมื่อพระกุมารทรงตรัสรู้แล้วเจ้าจงบวชในพระศาสนาของพระองค์เถิด
อีก ๒๙ ปีต่อมา เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเห็นโทษในกาม เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม ในวันที่พระราหุลกุมารประสูติ จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ในครั้งนั้นพราหมณ์ ๗ คน ได้สิ้นชีวิตไปตามกรรมแล้ว ส่วนโกณฑัญญมาณพ ซึ่งอายุน้อยกว่าเขาทั้งหมด เมื่อท่านทราบว่า พระมหาบุรุษทรงผนวชแล้ว จึงเข้าไปหาพวกบุตรพราหมณ์ของพราหมณ์ทั้ง ๗ และชักชวนให้ออกบวชตามเสด็จ แต่ก็มีบุตรพราหมณ์เพียง ๔ คนเท่านั้นที่เห็นดีด้วย บุตรพราหมณ์ทั้ง ๔ คน เหล่านี้ คือ ท่านภัททิยะ ท่านวัปปะ ท่านมหานาม และท่านอัสสชิ และท่านโกณฑัญญพราหมณ์จึงได้บวช
เมื่อบวชแล้วบรรพชิตทั้ง ๕ นี้อันมีท่านโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า จึงได้มีชื่อว่า พระปัญจวัคคีย์เถระ ก็ได้เที่ยวบิณฑบาตในคามนิคมและราชธานี และได้เดินทางไปอุปัฎฐากพระโพธิสัตว์ ตลอด ๖ ปีที่พระโพธิสัตว์ทรงเริ่มกระทำทุกรกิริยา ด้วยหวังว่า พระสมณโคดมจักบรรลุธรรมใดก็จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาเห็นว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยามิใช่หนทางไปสู่อริยธรรม จึงทรงกลับมาเสวยพระกระยาเช่นเดิม หมู่ปัญจวัคคีย์คิดว่าพระมหาสัตว์ทรงละความเพียรเสียแล้ว จึงหมดความเลื่อมใส เกิดความเบื่อหน่าย พากันละพระองค์เสีย ไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์ ทรงกลับมาเสวยพระกระยาหารดังปกติ ล่วงมาถึงวันวิสาขบุรณมี ทรงเสวยโภชนะอย่างดีที่นางสุชาดาถวาย ทรงลอยถาดทองไปให้ทวนกระแสแม่น้ำตามที่ทรงอธิษฐาน จึงตกลงพระทัยที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุพระมหาอมตธรรมให้ได้ในวันนั้น จึงทรงประทับใต้ร่มมหาโพธิ บ่ายพระพักตร์ไปสู่ด้านตะวันออก นั่งขัดสมาธิ อธิษฐานความเพียร ทรงกำจัดมารและพลมารและบรรลุธรรมเป็นลำดับ จนกระทั่ง ทรงตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมยามแห่งราตรีนั้นเอง
ครั้นเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์สมควรจะแสดงธรรมให้ก่อน จึงทรงพิจารณาถึง อาฬารดาบสและอุททกดาบส ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่าบุคคลทั้งสองสิ้นชีวิตไปแล้ว เมื่อทรงพิจารณาต่อไปก็ทรงเห็นว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้อุปัฏฐากครั้งเมื่อทรงตั้งความเพียรนับว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา อีกทั้งโกณฑัญญพราหมณ์ก็เป็นผู้กระทำกรรมสะสมบารมีมาถึง๑๐๐,๐๐๐ กัป ก็เพื่อประสงค์จะเป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถบรรลุธรรมก่อนผู้อื่น
ลำดับนั้น พระศาสดา จึงเสด็จไปยังป่าอิสิปตมฤคทายวัน ที่ปัญจวัคคีย์อาศัยอยู่ เสด็จเข้าไปหาพระปัญจวัคคีย์
ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฯ ฝ่ายปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล เข้าใจว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อแสวงหาผู้อุปฐาก จึงได้ตกลงกันว่า พระสมณโคดมนี้คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากแล้ว เสด็จมา ณ บัดนี้ พวกเราทั้งหลายไม่พึงไหว้ ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์เลย แต่ว่าท่านนี้เกิดในตระกูลใหญ่ เป็นวรรณกษัตริย์ เราควรปูลาดอาสนะที่นั่งไว้ เพื่อพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง ฯ ครั้นพระองค์เสด็จเข้าไปถึงแล้ว อาศัยความเคารพที่เคยประพฤติต่อพระองค์ มาบันดาลให้ลืมข้อตกลงที่ทำกันนั้นไว้จนหมดสิ้น ลุกขึ้นต้อนรับพระพุทธองค์ รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย ดังที่เคยทำมา แต่ยังพูดกับพระองค์ด้วยถ้อยคำไม่เคารพ คือ เรียกโดยการเอ่ยพระนามโดยตรง หรือเรียกโดยใช้คำแทนพระพุทธองค์ว่า อาวุโส ฯ
พระพุทธองค์ทรงห้ามพวกปัญจวัคคีย์ มิให้เรียกพระองค์เช่นนั้น (ซึ่งถือว่าเป็นการไม่เคารพ ที่ทรงห้ามก็เพื่อจะมิให้เกิดโทษแก่เหล่าปัญจวัคคีย์เหล่านั้น) และทรงตรัสต่อไปว่า ตถาคตได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังธรรมเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เพื่อที่เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้า ก็จักบรรลุถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์
เหล่าปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ ได้กล่าวเป็นเชิงสงสัยในจริยาของพระพุทธองค์ว่า แต่เดิมที่ท่านปฏิบัติ แม้โดยการอดอาหาร กระทำทุกรกิริยาอย่างยิ่งยวด ถึง ๖ ปี ก็ไม่สามารถแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณได้ มาบัดนี้เมื่อท่านคลายความเพียรนั้น กลับมาเป็นผู้มักมาก ท่านจะบรรลุธรรมใด ๆ อย่างไรได้
พระพุทธองค์ทรงมีพระดำรัสว่า ท่านไม่ได้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเลย ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว และทรงขอให้เหล่าปัญจวัคคีย์ตั้งใจฟังธรรมที่ท่านจะแสดง แต่ปัญจวัคคีย์เหล่านั้นก็ยังได้กล่าวสงสัยในจริยาของพระพุทธองค์อีกถึง ๒ ครั้ง
จนในครั้งที่ ๓ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนให้เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย นึกถึงถ้อยคำของพระพุทธองค์ในครั้งก่อนว่า วาจาที่ท่านกล่าวว่าท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว เช่นนี้ ท่านได้เคยพูดออกมาในกาลก่อนหรือไม่ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์จึงระลึกขึ้นได้ว่าพระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยได้ตรัสมาก่อนเลย จึงพากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์จะตรัสเทศนาสั่งสอนสืบไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว จึงได้ทรงเปล่งพระอุทานว่า โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ, โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ (อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ, อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ) เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านตั้งแต่นั้นมา
ครั้นเมื่อท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรม ดำรงอยู่ในโสดาปัตติมรรคแล้ว จึงได้ทูลขอบรรพชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาก็ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วตรัสต่อไปว่าธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
ได้รับฟังปฐมเทศนา
พระพุทธองค์ ทรงประกาศพระสัพพัญญุตญาณแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ โดยตรัสพระธรรมจักรกัปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนา ซึ่งเนื้อความในพระธรรมเทศนานี้ พระพุทธองค์ทรงตำหนิหนทางปฏิบัติอันไร้ประโยชน์ 2 ทาง ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
กามสุขัลลิกานุโยค การปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไป แสวงหาแต่กามสุขอันพัวพันหมกมุ่นแต่รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งเป็นสิ่งเลวทราม เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นกิจของคนกิเลสหนา มิใช่ของพระอริยะ มิใช่ทางตรัสรู้หาประโยชน์มิได้
อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติตนให้ได้รับความลำบาก เคร่งครัดเกินไป กระทำตนให้ได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นการกระทำที่เหนื่อยเปล่า ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้น
จากนั้น พระพุทธองค์ตรัสชี้แนะวิธีปฏิบัติ แบบ “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ การปฏิบัติแบบกลาง ๆ ไม่ย่อหย่อนเกินไปแบบประเภทที่หนึ่ง และไม่ตึงเกินไป แบบประเภทที่สอง ดำเนินตามทางสายกลางซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค คือทางอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ ได้แก่
สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ (ปัญญาเห็นในอริยสัจ 4)
สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ (ดำริออกจากกาม เบียดเบียนพยายาม)
สัมมาวาจา เจรจาชอบ (เว้นจากวจีทุจริต 4)
สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ (เว้นจากกายทุจริต 3)
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ (เว้นจากเลี้ยงชีพในทางที่ผิด)
สัมมาวายามะ เพียรชอบ (เพียรละความชั่วทำความดี)
สัมมาสติ ระลึกชอบ (ระลึกในสติปัฏฐาน 4)
สัมมาสมาธิ ตั้งจิตไว้ชอบ (เจริญฌานทั้ง 4)
เมื่อจบพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน เกิดขึ้นแก่โกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา” พระพุทธองค์ ทรงทราบว่า โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความพอพระทัยด้วยพระดำรัสว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” ซึ่งแปลว่า “โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ” ด้วยพระพุทธดำรัสนี้ คำว่า “อัญญา” จงเป็นคำนำหน้าชื่อของท่าน โกณฑัญญะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นที่รู้ทั่วกันว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ
ในวันต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถา ทรงให้พระภัททิยเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๒ ในวันแรม ๑ ค่ำ
ในวันแรม ๒ ค่ำ ทรงให้พระวัปปเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๓
ในวันแรม ๓ ค่ำ ทรงให้พระมหานามเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๔
ในวันแรม ๔ ค่ำ ทรงให้พระอัสสชิเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๕
อนึ่งในวันแรม ๕ ค่ำ ทรงเทศนาอนัตตลักขณสูตร ให้พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดตั้งอยู่ในพระอรหัตด้วย ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์.
ทรงตั้งพระเถระเป็นเอตทัคคะผู้เป็นรัตตัญญูรู้ราตรีนาน
ครั้นกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ในพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อจะทรงแสดงความที่พระเถระเป็นผู้รู้แจ้งธรรมก่อนเพื่อน จึงทรงตั้งพระเถระนั้นไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัญญาโกณฑัญญะนี้ เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นรัตตัญญูรู้ราตรีนาน
พวกภิกษุติเตียนพระศาสดา
ครั้งเมื่อ พระศาสดาทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน ทรงประทานตำแหน่งพระอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสองแล้วทรงแสดงพระปาติโมกข์.
พวกภิกษุ ติเตียนกล่าวว่า “พระศาสดา ประทานตำแหน่งแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยเห็นแก่หน้า อันพระองค์เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ควรประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ผู้บวชก่อน เมื่อไม่เหลียวแลถึงพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๕๕ รูป มีพระยสเถระเป็นประมุข เมื่อไม่เหลียวแลถึงภิกษุเหล่านั้น ก็ควรประทานแก่พระพวกภัทรวัคคีย์ เมื่อไม่เหลียวแลถึงพระพวกภัทรวัคคีย์เหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๓ พี่น้อง มีพระอุรุเวลกัสสปะเป็นต้น แต่พระศาสดา ทรงละเลยภิกษุเหล่านั้น เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ก็ทรงเลือกประทานแก่ผู้บวชภายหลังเขาทั้งหมด.”
พระศาสดา ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน ? ” เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลว่า “ เรื่องเช่นนี้พระพุทธเจ้าข้า” พระศาสดาจึงตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เราหาเลือกหน้าให้ตำแหน่งแก่พวกภิกษุไม่ แต่เราให้ตำแหน่งที่แต่ละคน ๆ ตั้งความปรารถนาไว้แล้วในอดีตแก่ภิกษุเหล่านี้ แล้วทรงเล่าบุรพกรรมของพระอัญญาโกณฑัญญะในสมัยที่ตั้งความปรารถนาจะเป็นผู้แทงตลอดธรรมอันเลิศก่อนผู้อื่น ไว้เมื่อสมัยกระทำมหาทานแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า และทรงกล่าวอีกว่า
อนึ่ง แม้ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ในหงสาวดีนคร ในแสนกัลป์ก่อนหน้านี้ เขาถวายมหาทานตลอด ๗ วันแล้ว หมอบลงแทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ตั้งปรารถนาเพื่อแทงตลอดธรรมอันเลิศก่อนเขา เหมือนกัน สิ่งที่เราได้ให้ เป็นผลที่อัญญาโกณฑัญญะนี้ปรารถนาในอดีตทีเดียว เราหาได้เลือกหน้าให้ไม่ ”
พระเถระบวชหลานชาย
ครั้งหนึ่ง พระอัญญาโกณฑัญญเถระ มายังกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อบวชให้กับปุณณมาณพ หลานชายของท่านผู้เป็นบุตรของนางมันตานีพราหมณี (ผู้ซึ่งตำราบางแห่งบอกว่า เป็นน้องสาวของท่าน) โดยที่ชื่อของท่านปุณณมาณพเหมือนกับพระเถระอีกรูปหนึ่งซึ่งชื่อ ปุณณะ เช่นเดียวกัน จึงเรียกท่านว่า พระปุณณมันตานีบุตร พระปุณณมันตานีบุตรท่านนี้ เมื่อบวชแล้วก็ได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุพระอรหัตผล ต่อมาพระบรมศาสดาได้ทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะของเหล่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก
พระเถระปลีกตัวไปอยู่ป่า
ในระยะเวลาประมาณ ๑๒ ปีสุดท้ายแห่งอายุของท่าน ท่านได้ไปอยู่ในถิ่นช้างตระกูลฉันททันตะ ใกล้สระมันทากินีโปกขรณี ซึ่งเป็นสถานที่อยู่แห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เนื่องจากท่านเป็นพระมหาสาวกผู้เป็นที่เคารพนับถือทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายไปยังสำนักของพระตถาคต กระทำการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้แล้วก็จะเข้าไปบูชาพระเถระด้วยเสมอ เป็นธรรมดาว่าเมื่อมีผู้มาสู่สำนัก ท่านก็ต้องแสดงธรรมกถา หรือปฏิสันถารด้วย พระเถระเป็นผู้ปรารถนาความสงัด ท่านจึงคิดจะปลีกตนไปอยู่ ณ ที่ดังกล่าว
อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ วันหนึ่ง พระเถระเห็นภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของตน เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ประกอบด้วยความเพียร มีจิตฟุ้งซ่าน มักคลุกคลีอยู่กับบุคคลผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร จึงไปหาศิษย์ผู้นั้นแล้วให้โอวาทภิกษุนั้นว่า ท่านอย่ากระทำอย่างนี้เลย ท่านจงละบุคคลผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร คบหาบุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตรทั้งหลาย.ภิกษุนั้นไม่สนใจต่อคำสอนของพระเถระ.พระเถระถึงธรรมสังเวช ต่อจริยาของภิกษุนั้น
อีกเหตุหนึ่ง ในเวลาแสดงธรรม เมื่อพระศาสดาประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ตรงกลาง พระธรรมเสนาบดีนั่ง ณ ข้างพระหัตถ์เบื้องขวา พระโมคคัลลาะนั่ง ณ ข้างพระหัตถ์เบื้องซ้าย ส่วนเบื้องหลังแห่งพระสาวกทั้ง ๒ นั้น เขาปูอาสนะไว้สำหรับพระอัญญาโกณฑัญญะ เหล่าภิกษุที่เหลือนั่งแวดล้อมท่าน พระอัครสาวกทั้ง ๒ มีความเคารพในพระเถระ เพราะท่านแทงตลอดธรรมอันเลิศและเป็นพระเถระผู้เฒ่า พระเถระเห็นว่า ภิกษุเหล่านี้เกรงใจต่อเรา เราพึงจะทำให้ภิกษุเหล่านั้นอยู่โดยความสำราญ คิดดั่งนั้นแล้วพระเถระจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลขอประทานอนุญาตไปอยู่ในชนบท พระศาสดาก็ทรงอนุญาต
ครั้นพระเถระเก็บงำเสนาสนะแล้ว ถือบาตรจีวรไปยังริมสระมันทากินีโปกขรณี ถิ่นช้างตระกูลฉัททันตะ ซึ่งเมื่อกาลก่อน โขลงช้างประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก เคยปรนนิบัติพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มาครั้งนี้ โขลงช้างเมื่อเห็นพระเถระก็ยินดีคิดว่าบุญเขตของพวกเรามาถึงแล้ว จึงเอาเท้าปรับที่สำหรับจงกรม เอาหญ้าออก นำกิ่งไม้เครื่องกีดขวางออก จัดแจงที่อยู่ของพระเถระ ทำวัตรทั้งหมด ประชุมปรึกษากันตั้งเวรกันไว้สำหรับอุปัฏฐากพระเถระ
พระเถระทูลลาพระพุทธองค์เพื่อไปนิพพาน
พระเถระอยู่ในป่านี้ตลอด ๑๒ ปี ครั้นท่านได้ตรวจดูอายุสังขารก็ทราบว่าสิ้นแล้ว จึงพิจารณาถึงสถานที่ที่ควรจะปรินิพพาน ท่านพิจารณาว่า เหล่าช้างทั้งหลายบำรุงเราถึง ๑๒ ปี กระทำกิจยากที่ผู้อื่นจะทำได้ เราจักขออนุญาตพระศาสดาปรินิพพานในที่ใกล้ ๆ ช้างเหล่านั้นแหละ แล้วจึงเหาะไปยังสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นถึงท่ามกลางสงฆ์อันมีพระบรมศาสดาเป็นประธาน แวดล้อมด้วยหมู่พุทธบริษัทแล้ว ท่านจึงถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วจึงประกาศชื่อ ด้วยพิจารณาว่า ท่านละเมืองไปอยู่ป่านานถึง ๑๒ ปี ในหมู่ชนทั้งหลายที่มาเฝ้าพระพุทธองค์ คนบางพวกจำพระเถระได้ บางพวกจำไม่ได้ บรรดาคนเหล่านั้น คนเหล่าใดที่ไม่รู้จักพระเถระ จักคิดร้ายว่า พระแก่ศีรษะขาวโพลนหลังโกงซี่โครงคดรูปนี้ทำปฏิสันถารกับพระศาสดา คนเหล่านั้นจักตกในอบาย แต่คนเหล่าใดรู้จักพระเถระ ก็จักเลื่อมใสว่า เป็นมหาสาวกปรากกฎในหมื่นจักรวาลเหมือนพระศาสดา คนเหล่านั้นจักเข้าถึงสวรรค์ ดังนี้ เพื่อจะปิดทางอบาย เปิดทางสวรรค์สำหรับชนเหล่านั้น ท่านจึงได้ประกาศชื่อของท่าน
ครั้นแล้วพระเถระจึงทำปฏิสันถารกับพระศาสดาขออนุญาตกาลปรินิพพานว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อายุสังขารของข้าพระองค์สิ้นแล้ว ข้าพระองค์จักปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า โกณฑัญญะเธอจักปรินิพพานที่ไหน พระเถระทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างทั้งหลายที่เป็นอุปัฏฐากของข้าพระองค์ได้กระทำกิจที่ผู้อื่นทำได้ยาก ข้าพระองค์จักปรินิพพานในที่ใกล้ ๆ ช้างเหล่านั้น พระศาสดาทรงอนุญาต.
พระเถระทำประทักษิณพระทศพลแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การเห็นครั้งนั้น เป็นการเห็นครั้งแรกของข้าพระองค์ ครั้งนี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย มหาชนเมื่อทราบข่าวก็ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ พระเถระถวายบังคมพระศาสดาแล้วออกมายืนที่ซุ้มประตู สั่งสอนมหาชนเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย อย่าเศร้าโศกเลยอย่าคร่ำครวญเลย เป็นพระพุทธเจ้าก็ตาม เป็นพุทธสาวกก็ตาม สังขารที่เกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าไม่แตกทำลาย ย่อมไม่มี แล้วท่านก็เหาะไปลงที่ริมสระมันทากินี สรงน้ำในสระโบกขรณีนุ่งสบงห่มจีวรแล้ว เก็บงำเสนาสนะ เข้าผลสมาบัติล่วง ๓ ยาม ปรินิพพานเวลาจวนสว่าง ต้นไม้ทุกต้นไม้หิมวันตประเทศได้โน้มน้อมออกผลบูชาพร้อมกับเวลาพระเถระปรินิพพาน
ช้างตัวเข้าเวรไม่รู้ว่าพระเถระปรินิพพานจัดน้ำบ้วนปากและไม้ชำระฟันทำวัตรปฏิบัติแต่เช้าตรู่ นำของควรเคี้ยวและผลไม้มายืนอยู่ที่ท้ายที่จงกรม ช้างนั้นไม่เห็นพระเถระออกมาจนพระอาทิตย์ขึ้นคิดว่า นี่อะไรกันหนอ เมื่อก่อน พระผู้เป็นเจ้าจงกรม ล้างหน้าแต่เช้าตรู่วันนี้ยังไม่ออกจากบรรณศาลา จึงเขย่าประตูกุฎี และดูเห็นพระเถระกำลังนั่ง จึงเหยียดงวงออกลูบคลำค้นหาลมอัสสาสปัสสาสะ รู้ว่าลมอัสสาสปัสสาสะขาด พระเถระปรินิพพานแล้ว จึงสอดงวงเข้าในปากร้องเสียงดังลั่น ทั่วหิมวันตประเทศได้มีเสียงบันลือเป็นอันเดียวกัน ช้าง ๘,๐๐๐ ประชุมกันยกพระเถระขึ้นนอนบนกระพองของหัวหน้าโขลง ถือกิ่งไม้ที่มีดอกบานสะพรั่ง แวดล้อมแห่ไปทั่วหิมวันต์แล้วมายังที่ของตนตามเดิม.
ท้าวสักกเทวราชปรึกษาพระวิษณุกรรมเทพบุตรว่า พระอัญญาโกณฑัญญะเถระปรินิพพานเสียแล้ว เราจักกระทำสักการะ ท่านจงเนรมิตปราสาทยอดขนาด ๙ โยชน์ล้วนแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง พระวิษณุกรรมเทพบุตรทำตามเทวบัญชาแล้ว ให้พระเถระนอนในปราสาทนั้น ได้มอบหมายปราสาทให้แก่ช้างทั้งหลาย ช้างเหล่านั้นยกปราสาทเวียนเขาหิมวันต์ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์หลายรอบ พวกอากาศเทวดารับจากงวงของช้างเหล่านั้น แล้วแห่แหนปราสาทขึ้นไปจนถึงพรหมโลกครั้นแล้วพวกพรหมได้ให้ปราสาทแก่พวกเทวดา พวกเทวดาได้ให้ปราสาทแก่ช้างทั้งหลายตามเดิม
เทวดาแต่ละองค์ได้นำท่อนจันทร์ประมาณ ๔ องคุลีมา ได้มีจิตกาธานประมาณ ๙ โยชน์ พวกเทวดายกเรือนยอดขึ้นสู่จิตกาธาน ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป เหาะมาสาธยายตลอดคืน.พระอนุรุทธเถระแสดงธรรม เทวดาเป็นอันมากได้ตรัสรู้ธรรม ในวันรุ่งขึ้นเวลาอรุณขึ้นนั่นอง เทวดาทั้งหลายให้ดับจิตกาธานแล้ว เอาพระธาตุมีสีดังดอกมะลิตูมบรรจุผ้ากรองน้ำ นำมาวางไว้ในพระหัตถ์ของพระศาสดา ในเมื่อพระองค์เสด็จออกถึงซุ้มประตูพระวิหารเวฬุวัน พระศาสดาทรงรับผ้ากรองน้ำบรรจุพระธาตุแล้ว ทรงเหยียดพระหัตถ์ไปที่แผ่นดิน พระเจดีย์เหมือนฟองเงินชำแรกแผ่นดินใหญ่ออกมา พระศาสดาทรงบรรจุพระธาตุในพระเจดีย์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ได้ยินว่า พระเจดีย์นั้นก็ยังดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้แล.
source: dharma gateway
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น