ทรงโปรดชาวเมืองพาราณสี ต่อมา เมื่อประทับจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปนะมฤคทายวัน อันเป็นพรรษาแรกนั้นเอง พระพุทธองค์ก็ได้ทรงแสดงอนุปทาพิกถาโปรดกุลบุตรชื่อ "ยสะ" ซึ่งเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีให้ได้บรรลุ พระอรหันตตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็นพระอรหันต์องค์ที่ ๗ ในโลก ทั้งได้ทรงแสดงโปรดเศรษฐีบิดาพระยสะให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก และ นับเป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนาที่ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ทั้งได้โปรดมารดาและภรรยาของท่านยสะให้เลื่อมใส ได้ประกาศตนเป็นอุบาสิกา ซึ่งเป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนาที่ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ต่อแต่นั้นมา ๒-๓ วัน พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี ผู้เป็นสหายของท่านยสะทั้ง ๔ คน ชื่อ วิมละ สุพาหุ ปณณชิ และควัมปติ ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็นพระอรหันต์ในโลกจำนวน ๑๑ องค์ ต่อมาอีกไม่นานนัก สหายของท่านยสะซึ่งเป็นชาวชนบทจำนวน ๕๐ คน ก็ได้บวชตามยสะ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้อุปสมทบด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั่วทุกองค์ นับจำนวนพระอรหันต์ในโลกเพิ่มขึ้นเป็น ๖๑ องค์
ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนา เมื่อมีพระอรหันต์สาวกจำนวนมากถึง ๖๐ องค์ และเวลานั้นก็ได้สิ้น ฤดูฝนแล้ว พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นโอกาสดี สมควรส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนาแล้วจึง มีพระพุทธดำรัสสั่งพระอรหันต์สาวก ให้ไปจาริกในที่ต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน โดยให้แยกย้ายกันไป มิให้ไปรวมกัน ให้ไปแสดงธรรมประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลาย ส่วนพระองค์เองก็จะเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา กรุงราชคฤห์ เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน
ทรงโปรดภัททวัคคีย์และชฎิล เมื่อทรงส่งพระสาวกออกจาริกไปแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จไปยัง ตำบลอุรุเวลาแต่เพียงพระองค์เดียว ระหว่างทางได้เสด็จแวะเข้าไปพักผ่อนที่ไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง ณ ที่นี้ พระองค์ได้ทรงพบ ชายหนุ่มจำนวน ๓๐ คน เป็นสหายกันเรียกว่า ภัททวัคคีย์ ซึ่งได้พากันออกติดตามหาภรรยาของหนุ่มคนหนึ่งที่ได้ขโมยของหนีไป พระพุทธองค์จึงตรัสเตือนว่า จะตามหาหญิงหรือตนเองดี แล้วทรงแสดงธรรมโปรดให้บรรลุมรรคผล ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา (คือ การบวชให้ด้วยพระองค์เอง ด้วยการตรัสว่า จงมาเป็นภิกษุเถิด) แล้วทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาทั้ง ๓๐ องค์
หลังจากที่ทรงโปรดพวกภัททวัคคีย์แล้ว ตอนบ่ายวันนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จจากไร่ฝ้าย พอเวลาพลบค่ำก็ เสด็จถึงตำบลอุรุเวลาริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลนี้พระองค์ได้ทรงโปรดชฎิล ๓ พี่น้องที่ตั้งอาศรมบำเพ็ญ พรตอยู่ที่ตำบลนี้ คือ ชฎิลผู้พี่ใหญ่ ชื่อ อุรุเวลกัสสป น้องคนกลางชื่อ นทีกัสสป น้องคนเล็กชื่อ คยากัสสป คุมบริ วาร (รวมทั้งตัวเองด้วย) คนละ ๕๐๐ , ๓๐๐ และ ๒๐๐ โดยตั้งอาศรมอยู่ตอนเหนือแม่น้ำเนรัญชราที่คุ้งแม่น้ำตอนกลาง และที่คุ้งตอนใต้สุดโดยลำดับ โดยทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรโปรดชฎิลเหล่านั้นให้ได้บรรลุมรรคผล สำเร็จในพระอรหันต์ทั้ง ๑,๐๐๐ รูป ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั่วทุกรูป
ทรงโปรดพระเจ้าพิมพิสารและทรงได้พระอัครสาวก เมื่อทรงโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมทั้งบริวารและทรงพักอยู่ที่ตำบลคยาสีสะพอสมควรแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงพาพระอรหันต์ผู้เป็นชฎิลจำนวน ๑,๐๐๐ รูปนั้นเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ นครหลวงแห่งแคว้นมคธ เสด็จเข้าประทับอยู่ที่สวนลัฏฐิวัน ใกล้พระราชวังพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าวนี้ ก็ได้เสด็จไปเฝ้า พร้อมด้วยข้าราชบริพารและประชาชนจำนวนมาก พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดให้ได้บรรลุธรรมโปรดและมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระเจ้าพิมพิสารทรง มีพระราชศรัทธาถวายพระเวฬุวัน (สวนไผ่) เพื่อเป็นวิหาร (วัด) แก่พระสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประมุข ซึ่งนับเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์จำนวน ๑,๐๐๐ องค์นั้น ได้ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหารต่อมาถึงวันขึ้น๑ ค่ำ เดือนมาฆะ (เดือน ๓) เวลานั้น ปริพาชกมีชื่อ ๒ คน คืออุปติสสะ และ โกลิตะ เป็นสหายกัน ได้พาบริวาร (รวมทั้งตัวเองด้วย) จำนวน ๒๕๐ คน เข้าไปเผ้าพระพุทธองค์ที่พระเวฬุวันวิหาร พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม โปรดประทานเอหิภิกขุสัมปทาถ้วนทุกคน ปริพาชกที่เป็นบริวารได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั่วทุกคน ส่วนอุปติสสะและโกลิตะผู้เป็นหัวหน้ายังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น ครั้นต่อมาอีก ๗ วัน พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดท่านโกลิตะ ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้นต่อมาถึงวันเพ็ญเดือนมาฆะ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓) พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่ทีฆนขะปริพาชกที่ถ้ำสูกรขตา (ถ้ำที่สุกรขุด) ข้างเขาคิชฌกูฎ ท่านอุปติสสะนั่งถวายงานพัดพระพุทธองค์อยู่ ได้ฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ต่อมาพระพุทธองค์ทรงยกย่องพระอุปติสสะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ปรากฏพระนามว่า พระสารีบุตรอัครสาวก ยกย่องพระโกลิตะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายปรากฏนามว่า พระมหาโมคคัลลานะอัครสาวก
To Be Continue .........พระพุทธศาสนา Buddhism (Part 4)
source: tantee.net & dhammathai.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น