นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ

หน้าแรก

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สมาธิ ขั้นต้น Initial Concentration




ความหมายของสมาธิ The Meaning of Meditation

ความหมายของการเจริญสมาธิภาวนาในระดับต่างๆ และเรื่องที่เกี่ยวข้อง แบ่งได้เป็น ๗ อย่าง

๑ การฝึกกรรมฐานนั้นมี ๒ อย่าง
๒ ประโยชน์ของการฝึกสมาธิภาวนา
๓ ความหมายของสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา (ภาวนา ๒)
๔ ความหมายในทางพุทธเกี่ยวกับการฝึกภาวนาทำได้หลายอย่าง (ภาวนา ๔)
๕ สมาธิภาวนาแบบกรรมฐานแบ่งเป็น ๓ ขั้น (ภาวนา ๓)
๖ เครื่องมือกำหนดจิตเพื่อใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน (นิมิต ๓)
๗ ระดับขั้นต่างๆ ของสมาธิ และการได้ฌาน



๑ การฝึกกรรมฐานนั้นมี ๒ อย่าง คือ

๑.๑ สมถกรรมฐาน คือการใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งเพื่อฝึกกำหนดจิตให้เกิดความสงบ เป็นสมาธิ
๑.๒ วิปัสสนากรรมฐาน คือการใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งในการกำหนดจิต เพื่อการเจริญภาวนาตามหลักไตรลักษณ์เพื่อเข้าสู่มรรค ผล และนิพพาน
ในบางแห่งมีเรียกว่าอารักขกรรมฐาน หรือแปลว่ากรรมฐานที่เป็นเครื่องรักษาตัว ซึ่งก็ใช้หลักการเจริญกรรมฐานเช่นเดียวกัน เช่นการใช้พุทธานุสสติ หรือมรณะสติเป็นต้น
ทั้งสองอย่างนี้เกือบจะเป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันก็ตรงที่ระดับของสมาธิที่เรียกว่าได้ฌาน ถ้าหากว่าได้ฌานในระดับขณิกสมาธิ คือความรู้สึกโล่งสบาย สงบ สืมตัวชั่วขณะ หากประคองความสงบนิ่งต่อไปก็จะได้จนถึงระดับ อุปจารสมาธิ ซึ่งจะนานกว่าขั้นแรก

ความหมายที่เกี่ยวกับสมาธิภาวนาโดยทั่วไป

ความหมายของจิต หมายถึงธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ สภาพนึกคิด ใจและวิญญาณ ในทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งธรรมชาติของจิตออกเป็น ๑๒๑ ประเภทด้วยกัน (จะไม่ขอนำมาสาธยายในที่นี้)
ความหมายของสมาธิ หมายถึงการมีจิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งจนหยุดนิ่ง และมีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น
ความหมายของกรรมฐาน หมายถึงสิ่งที่ใช้เป็นอุบายในการกำหนดจิต เพื่อพิจารณา เจริญภาวนา เป็นเหมือนอุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต (บางตำราเรียก กัมมัฏฐานก็ใช้ได้เหมือนกัน) ในทางพระพุทธศาสนามีกรรมฐานทั้งสิ้น ๔๐ กอง
ความหมายของวิปัสสนา หมายถึงการพิจารณาสังขารตามหลักไตรลักษณ์ (ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา) นั่นเอง
ในความเป็นจริงจะใช้สลับกันค่อนข้างมาก โดยความหมายไม่ต่างกันมากนัก เช่นวิปัสสนาสมาธิ หรือ วิปัสสนาภาวนาก็ได้ มีความหมายเดียวกันว่าคือการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริง หรือการเจริญปัญญานั่นเอง

๒ ประโยชน์ของการฝึกสมาธิภาวนา ตามหลักศาสนาพุทธที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้แบ่งออกเป็น ๔ ระดับ คือ

๑. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อความสุขในปัจจุบัน หรือเพื่อพักผ่อนจิต (ทิฏฐธรรมสุขวิหาร)
๒. สมาธิภาวนาเพื่อการได้ญาณทัสสนะ คือการได้ญาณวิเศษเช่นมีหูทิพย์ ตาทิพย์เป็นต้น ยังถือเป็นขั้นต้นเท่านั้น
๓. สมาธิภาวนาเพื่อสติและสัมปชัญญะ คือเพื่อให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดว่าถูกต้องหรือไม่ ทำอะไรด้วยความรอบคอบและยั้งคิด
๔. สมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นไปซึ่งอาสวะ นั่นก็คือดับกิเลสทั้งปวงได้หมด เพื่อบรรลุนิพพาน

ประโยชน์ของการฝึกสมาธิภาวนา-ในภาษาชาวบ้าน
ที่เห็นได้ชัดเจนในระดับแรกคือ ทำให้จิตใจที่เคยว้าวุ่น กลับมาเป็นสงบเยือกเย็น คนที่เคยเอาแต่ใจตัวเองเป็นคนอารมณ์ร้อนฉุนเฉียวมาก่อน ก็ทำให้เป็นคนหนักแน่นมีเหตุผลมากขึ้น ไม่โกรธง่ายและรู้จักระงับอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีจิตใจงาม ยังผลให้สภาพจิตโดยทั่วไปมีแต่ความปลอดโปร่ง ผ่องใส และบ่งบอกได้จากใบหน้าที่อิ่มเอิบ หรือจะว่าแก่ช้าลงก็ไม่ว่า เพราะว่าการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ดำเนินไปด้วยความมีระเบียบและทำงานช้าลง นั่นก็คือคนที่ฝึกสมาธิภาวนา จะมีผลพลอยได้ทำให้แลดูอ่อนกว่าไว

ในระดับที่ดีขึ้นมาอีกนิดหนึ่งก็คือ ช่วยรักษาโรคภายในกายเราได้ และทำให้ร่างกายเราแข็งแรง เพราะการที่สภาพจิตที่ผ่านการฝึกสมาธิ จะทำให้กระแสคลื่นความถี่ในสมองมีระเบียบ ไม่กระจัดกระจาย เมื่อมีระเบียบก็มีพลังงานที่แรงกว่าคนปกติ ทำให้การใช้ความคิดในเรื่องใดๆ ก็ตาม สามารถขบปัญหาได้แตกและว่องไว ส่วนด้านการเดินพลังงานในจักรตามจุดต่างๆ ของร่างกายก็เป็นการทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง สุขภาพกายก็แข็งแรง โรคภัยก็ไม่ค่อยเบียดเบียน

ในระดับที่สูงขึ้นไปก็คือ ทำให้ล่วงรู้ในอดีต อนาคต และเห็นความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องแล้วแต่ความบริสุทธิ์ของระดับสมาธิภาวนา ที่เป็นเช่นนี้เพราะจิตเรานิ่งและว่าง สามารถใช้พลังของจิตเพ่งกำหนดรู้ไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะได้คำตอบในเรื่องนั้นๆเอง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อความหลุดพ้นก็ตาม และนั่นก็คือเป็นการขัดเกลากิเลส และทำให้เกิดปัญญาที่แท้จริงเข้าใจต่อสภาพของสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะก้าวเข้าไปสู่ขั้นสูงสุด

ในระดับที่สูงที่สุดก็คือ ช่วยเพิ่มบุญ หรือเรียกว่าเป็นการสั่งสมกรรมดีให้มีกระแสเพิ่มขึ้นในตัวเราเอง กรรมดีนี้จะส่งผลแรงได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับระดับของการทำสมาธิ ความจริงบุญที่เกิดจากสมาธินี้แม้ในระดับต้นๆ ที่จิตสงบก็เรียกว่าได้บุญแล้ว และกรรมดีนี่เองที่จะช่วยลดทอนแรงแห่งกระแสกรรมชั่วที่เราได้เคยทำไว้ในอดีตให้มีอำนาจน้อยลง หรือตามให้ผลไม่ทัน เพราะอำนาจกรรมดีที่เพิ่มขึ้นจะคอยเติมให้อยู่เสมอ แต่ถ้าทำได้จนถึงขั้นสูงสุดเรียกว่าบรรลุนิพพาน ก็คือหลุดพ้นจากอำนาจแห่งกรรมได้ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป


๓ การเจริญสมาธิภาวนาท่านแบ่งออกเป็น ๒ อย่างหลักๆ กล่าวคือ (ภาวนา ๒)

๓.๑ สมถภาวนา คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ มีสมาธิเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในเบื้องต้น
๓.๒ วิปัสสนาภาวนา คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดปัญญาและรู้แจ้งในความเป็นไปของสภาวะต่างๆในโลก

๔ ความหมายในทางพุทธและประเภทของภาวนาที่เกี่ยวกับการฝึก (ภาวนา ๔)
ความหมายในทางพุทธศานาของภาวนาคือ การทำให้เจริญ การฝึกหรือพัฒนาให้เจริญขึ้น ในทางพระพุทธศาสนาแบ่งการภาวนาออกเป็นดังนี้คือ

๔.๑ กายภาวนา คือการฝึกฝนอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้เป็นไปในทางกุศล ในทางที่ดี
๔.๒ สีลภาวนา คือการประพฤติอยู่ในศีลธรรม ระเบียบวินัย
๔.๓ จิตตภาวนา คือการพัฒนาจิตให้เจริญด้วยคุณธรรมทั้งปวง
๔.๔ ปัญญาภาวนา คือการเจริญปัญญาให้รู้แจ้งในสภาวะของสิ่งต่างๆ

๕ การเจริญภาวนา แบบกรรมฐานจะแบ่งการฝึกสมาธิออกเป็นขั้นต่างๆ ๓ ขั้น(ภาวนา ๓) ดังนี้คือ

๕.๑ บริกรรมภาวนา
เป็นขั้นตอนแรกในการฝึกจิตให้มีสมาธิโดยกำหนดใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่นการระลึกถึงพุทธคุณเป็นต้น หรือกองใดกองหนึ่งใน กรรมฐาน ๔๐
๕.๒ อุปจารภาวนา
ความหมายทางตรงของคำนี้ แปลว่าจวนเจียน ความหมายโดยนัยก็คือสมาธิขั้นจวนเจียนหรือเกือบจะสงบนิ่งดีแล้ว เป็นขั้นตอนที่ได้หลังจากการกำหนดจิตในขั้นแรกเป็นอารมณ์กรรมฐาน แล้วเกิดความสงบตัดจากอารมณ์*นิวรณ์ได้ (อารมณ์ของกามฉันทะ การคิดร้าย ความหดหู่ ฟุ้งซ่าน สงสัย)
๕.๓ อัปปนาภาวนา
หมายความว่าขั้นแน่วแน่ กล่าวคือ เมื่อผ่านสองขั้นต้นมาแล้ว นิมิตที่เกิดขึ้นนั้นจะสม่ำเสมอไม่ขาดตอนด้วยอุปจารสมาธิ ประคองความสงบนิ่งและอารมณ์ของจิตได้ไปจนถึงขั้นปฐมฌานอันถือว่าได้บรรลุการเจริญภาวนาขั้นต้นแล้ว

๖ นิมิต ๓ (บางตำราเรียก นิมิตต์ ๓) คือเครื่องหมายสำหรับใช้กำหนดจิตเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน มี ๓ อย่างดังนี้คือ

๖.๑ บริกรรมนิมิต
เป็นขั้นตอนแรกเริ่มในการเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานทั้ง ๔๐ อย่าง (ดูที่กรรมฐาน ๔๐) เช่นการระลึกถึงพุทธคุณเป็นต้น
๖.๒ อุคคหนิมิต
หลังจากขั้นตอนแรกแล้วก็นึกกำหนดจนเห็นในใจอย่างชัดเจน ติดตา หรือการตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์จนแน่วแน่นั่นเอง (ใช้ได้กับกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง)
๖.๓ .ปฏิภาคนิมิต
หลังจากได้ถึงขั้นที่สองแล้ว ก็ภาพในใจที่ได้มาฝึกการปรับแต่ง ย่อ ขยายภาพที่มีอยู่ในใจนั้นตามพอใจ (ใช้ได้กับเฉพาะกรรมฐาน ๒๒ กอง คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ และอานาปานสติ ๑) จิตที่ถึงขั้นนี้แสดงว่ามีสมาธิอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิแล้ว ซึ่งถือเป็นอารมณ์ของอุปจารภาวนาด้วย


๗ ระดับขั้นต่างๆ ของสมาธิและการได้ฌาน

ระดับของความตั้งมั่นในความสงบนิ่งของจิต แบ่งออกเป็น ๓ ขั้นกล่าวคือ
 (สมาธิ ๓)

๑.สมาธิที่เกิดขึ้นชั่วขณะ แต่ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้นาน (ขณิกสมาธิ)
๒.สมาธิที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้นิ่งสงบ และนานกว่าระดับแรกแต่ยังไม่ตัดขาดจากสิ่งรบกวนภายนอกหรือเรียกว่าสมาธิขั้นจวนเจียน (อุปจารสมาธิ)
๓.สมาธิที่แนบแน่นและมั่นคงอยู่ในอารมณ์นั้นๆ จนตัดจากสิ่งรบกวนภายนอกได้สิ้น เป็นสมาธิในฌาน (อัปปนาสมาธิ)

ญาณหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับมีดังนี้
 (ญาณ ๑๖)

๑.ญาณกำหนดรู้เรื่องของนามและรูป แยกแยะออกได้ว่าอะไรคือนามธรรม อะไรคือรูปธรรม (นามรูปปริจเฉทญาณ)
๒.ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้เกิดรูปและนามอาศัยซึ่งกันและกัน (ปัจจยปริคคหญาณ)
๓.ญาณกำหนดรู้ด้วยการพิจารณาเห็นนามและรูปตามหลักไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ยกรูปและนามมาพิจารณาอย่างลึกซึ้ง (สัมมสนญาณ)
๔.ญาณที่เห็นว่าการเกิดมาและดับไปของเบญจขันธ์เป็นเรื่องธรรมดา (อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ)
๕.ญาณที่เห็นการสลายไปของสังขารว่าต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา (ภังคานุปัสสนาญาณ)
๖.ญาณที่เห็นสังขารเป็นของน่ากลัวไม่ว่าภพใด เพราะว่าต้องสลายไปทั้งสิ้น (ภยตูปัฏฐานญาณ)
๗.ญาณที่เห็นเป็นโทษ เพราะว่าสังขารเป็นของน่ากลัวจึงต้องมีข้อบกพร่อง มีทุกข์ (อาทีนวานุปัสสนาญาณ)
๘.ญาณที่เห็นความเบื่อหน่าย เมื่อเห็นว่าเป็นโทษแล้วก็บังเกิดความเบื่อหน่ายในสังขาร ไม่ติดใจ (นิพพิทานุปัสสนาญาณ)
๙.ญาณที่ปรารถนาจะพ้นไปจากสังขารเหล่านั้น เพราะว่าเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว (มุญจิตุกัมยตาญาณ)
๑๐.ญาณที่พิจารณาหาทางเพื่อพ้นจากสังขาร ได้แก่การยกเอาสังขารทั้งหลายมาพิจารณาเพื่อให้หลุดพ้นไป (ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ)
๑๑.ญาณที่เห็นอย่างเป็นกลางในความเป็นไปของสังขาร ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งที่เห็น (สังขารุเปกขาญาณ)
๑๒.เมื่อเป็นกลางแล้ว ญาณก็คล้อยเข้าสู่การเห็นอริสัจจ์อันจะนำพาไปสู่ขั้นต่อไป จนกระทั่งจิตดิ่งลงเกิดมรรคญาณขึ้นจึงจะถึงที่สุดคือนิพพาน (สัจจานุโลมิกญาณ หรืออนุโลมญาณ)
๑๓.ญาณหยั่งรู้ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการข้ามขั้นจากปุถุชนไปเป็นอริยบุคคล (โคตรภูญาณ)
๑๔.ญาณหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะระดับอริยบุคคลในแต่ละขั้น (มัคคญาณ)
๑๕.ญาณหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จในระดับอริยบุคคลในชั้นนั้นๆ จนได้อริยผล (ผลญาณ)
๑๖.ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน มรรคผล กิเลสที่ละแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ และนิพพาน ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ไม่มีการพิจารณากิเลสที่เหลืออยู่ (ปัจจเวกขณญาณ)


To Be Continue ..... การทำสมาธิเบื้องต้น Meditation Basics

source: salatham.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น