นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ

หน้าแรก

วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พระพุทธศาสนา Buddhism (Part 5)(The Final)




ทรงโปรดช้างนาฬาคีรี ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เช้าวันหนึ่งขณะที่พระพุทธองค์เสด็จออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พระเทวทัตศิษย์ทรยศของพระพุทธองค์ได้ติดสินบนควาญช้างให้ปล่อยช้างนาฬาคีรี เพื่อทำร้ายพระพุทธองค์ตามแผนการ แต่ด้วยเมตาจิตของพระพุทธองค์ ช้างตกมันก็หายพยศ กลับคุกเข่าลงหมอบลงตรงพระพักตร์พระพุทธองค์



ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธบิดา ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี แค้วนวัชชี ทรงจำพรรษา ณ ที่นี้เป็นพรรษาที่ ๕ ครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระเจ้าสุโธทนะ ทรงประชวรหนักจึงเสด็จเยี่ยมพระพุทธบิดาที่กรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์พุทธสาวก ครั้นเสด็จ ถึงแล้วได้ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หลังจากนั้น ๗ วัน พระพุทธบิดาก็สวรรคต พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์และพระประยูรญาติจึงพร้อมกันจัดถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธบิดา


พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกถูกประทุษร้าย การที่พระพุทธองค์ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงมั่นคง ในมัธยมประเทศ (ภาคกลางชมพูทวีป) และแพร่หลายไปในที่ต่างๆอย่างรวดเร็วนั้น ก็ด้วยการร่วมกำลังกันเผย แพร่ของพุทธบริษัทที่สำคัญคือ พระสงฆ์ พุทธสาวก และบรรดาพระสงฆ์สาวกนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ พระอัครสาวกทั้ง ๒ คือ พระสารีบุตรเถระ และพระมหาโมคคัลลานะเถระซึ่งเป็นกำลังสำคัญยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ จึงเป็นที่อิจฉาริษยาของมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มากนั้นมีผู้ปองร้ายอยู่ตลอดเวลา ครั้งหนึ่งเมื่อท่านจำพรรษาอยู่ที่กาฬศิลา แคว้นมคธ ก็ได้ถูกกลุ่มอาชญากรประทุษร้ายด้วยการว่าจ้างของกลุ่มมิจฉาทิฏฐิ


แม้พระพุทธศาสนาจะได้เจริญแพร่หลายแล้ว จำนวนพุทธสาวกได้เพิ่มขึ้น พุทธบริษัทมากมายจนนับไม่ถ้วนถึงกระนั้น พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงหยุดยั้งในการทรงบำเพ็ญพุทธกิจ คงเสด็จจาริกไปแสดงธรรมโปรดประชาชนทั่วไปตลอดเวลา ๔๕ พรรษา นับแต่พรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี จนพรรษาสุดท้ายที่หมู่บ้านเวฬุคาม แขวงเมืองเวสาลี ณ ที่นี้ และพรรษาสุดท้ายนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงประชวรหนักแต่ทรงข่มเสีย ด้วยพระสติสัมปชัญญะ


ครั้นออกพรรษาแล้วล่วงวันเพ็ญเดือนมาฆะ พระพุทธองค์จึงทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือ ทรงกำหนดพระทัยเรื่องพระชนมายุว่าต่อแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน พระองค์จักปรินิพพาน


ต่อแต่นั้นมา พระพุทธองค์ก็เสด็จจาริกโปรดเวไนยไปในที่ต่างๆ จนเสด็จถึงเมืองปาวา เข้าประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ บุตรนายช่างทอง ได้เสวยพระกายาหารมื้อสุดท้ายที่นายจุนทะถวาย ทรงแสดงธรรมโปรดนายจุนทะให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แล้วทรงอำลานายจุนทะ เสด็จดำเนินต่อไป ผ่านสถานที่ต่างๆไปโดยลำดับจนถึงป่าสาลวัน เขตเมืองกุสินารา รับสั่งพระอานนท์ให้ปูลาดที่บรรทมระหว่างต้นสาละคู่หนึ่ง ให้หันพระเศียรไปทางทิศอุดร แล้วประทับสำเร็จสีหไสยา คือ การบรรทมตะแคงขวาเป็นอนุฏฐานไสยา คือ การบรรทม โดยมิได้ทรงกำหนดว่าจะทรงลุกขึ้นเมื่อนั้น เมื่อนี้ ณ ตอนบ่ายวันเสด็จถึงนั้น


และในคืนวันนั้น สุภัททะปริพาชก ได้มาเฝ้าขออุปสมบทเป็นพระสาวกองค์สุดท้าย ของพระพุทธองค์ต่อจากนั้นพระองค์ก็ได้ประทานพระโอวาท แก่ภิกษุสงฆ์ครั้นถึงยามสุดท้ายแห่งวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน


ครั้นรุ่งเช้า เมื่อข่าวการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์ทราบถึงพวกมัลลกษัตริย์และชาวเมืองกุสินาราแล้วกษัตริย์ และประชาชนก็ได้พากันมานมัสการพระบรมพุทธสารีระแสดงความโศรกเศร้าอาลัยโดยทั่วหน้า


ครั้นล่วงไป 7 วันแล้ว จึงเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ มกุฎพันธนเจดีย์ เพื่อถวายพระเพลิงเมื่อพระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยบริวารมาถึง และที่ประชุมพร้อมแล้ว จึงได้พร้อมกันถวายพระเพลิง


ครั้น ถวายพระเพลิงเสร็จ แล้วพวกมัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราก็ได้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุที่เหลืออัญเชิญไป ประดิษฐานไว้ ณ สัณฐาคารศาลาภายในพระนครเพื่อเป็นที่สักการบูชาสืบไป ต่อมามีกษัตริย์และพราหมณ์ตามเมืองต่างๆ ได้มาขอพระบรมธาตุ กล่าวคือกษัตริย์เมืองราชคฤห์ เมืองเวสาลี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองอัลลกัปปะ เมืองรามคาม พราหมณ์ เมืองเวฏฐทีปกะ และเมืองปาวา มัลลกัษตริย์ก็แจกจ่ายถวายโดยทั่วกัน ส่วนโทณพราหมณ์ เมืองกุสินารา ผู้ทำหน้าที่แบ่งพระบรมธาตุ ได้ทะนานตวงพระธาตุไว้เป็นสักการบูชา


พระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว พระอังคารธาตุ และพุทธบริขารสถิตในมนุษย์โลกและเทวโลก พร้อมทั้งสังเวชนียสถานทั้งสี่ คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน


พุทธกิจหลักประจำวัน 5 ประการ (Extended Part)
พุทธกิจประการที่ 1 ในเวลาเช้า เสด็จออกบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์โลก
พุทธกิจประการที่ 2 ในเวลาเย็น ทรงแสดงธรรมแก่ผู้สนใจในการฟังธรรม
พุทธกิจประการที่ 3 ในเวลาค่ำ ทรงประทานพระโอวาท ให้กรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย
พุทธกิจประการที่ 4 ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย
พุทธกิจประการที่ 5 ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่อาจจะรู้ธรรมที่ประองค์ทรงแสดง แล้วเสด็จไปอนุเคราะห์ แสดงธรรมแก่ผู้ที่ปรากฏในข่ายพระญาณ


THE END


source: dhammathai.org/tantee.net/buddha-thushaveiheard.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น